วันอาทิตย์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

บทความทางวิชาการเรื่อง "ทานาคาอัศจรรย์ความงามแห่งผิว เคล็ดลับความกระจ่างใสของผิวสวย ระดับนางงาม"

 งามแบบ “ผิวพม่า นัยน์ตาแขก”
                  นับตั้งแต่บรรพกาลนานมา มนุษย์กับความรักสวยรักงามถือเป็นของคู่กัน โดยเฉพาะกับความงามทางกายภาพของตนเอง ไม่ว่าจะเป็น สรีระ เรือนร่าง ผิวพรรณ หน้าตา ที่ดูเหมือนว่าทั้งหญิงและชาย  ส่วนใหญ่ในโลก ต่างให้ความใสใจเป็นพิเศษ ซึ่งในแต่ละพื้นที่ แต่ละสังคมวัฒนธรรม ต่างก็มีรสนิยมด้านความงามแตกต่างกันออกไปในเมืองไทยนอกจากความงามตามจารีตของกุลสตรีไทยที่ นุ่มนวล อ่อนโยน หน้าหวานชดช้อยแล้ว               งามแบบ ผิวพม่า นัยน์ตาแขกนับเป็นคำพังเพยที่แฝงคตินิยมด้านความงามที่ชาวไทยมีต่อ สาวพม่าและสาวแขก ผู้หญิงไทยที่รักสวยรักงามเมื่อ ๒๐-๓๐ ปีก่อนก็ถือเป็นอีกหนึ่งรสนิยมทางความงามที่ทุกคนให้ความสนใจ ผิวพม่า เป็นผิวที่ละเอียดเนียน ผ่องตึง มีน้ำมีนวล จัดเป็นหนึ่งในผิวพรรณที่ทุกคนปรารถนา สำหรับผู้หญิงพม่าแล้ว ผิวที่ดีเต่งตึงและใบหน้าที่เนียนผ่อง ต้องคู่กับการดูแลรักษาผิวพรรณที่เนียนและดวงตางามจึงเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งที่สาวไทยปรารถนา ความงามสำหรับสาวพม่านั้นจะเน้นที่ผิวพรรณและเรือนร่าง หญิงพม่า                ที่มองดูสวยจะต้องเป็นสาวร่างอวบ ผิวตึง จึงต้องหมั่นดูแลผิวพรรณของตนให้ดูดีอยู่เสมอ ทั้งเรือนกายและบนใบหน้า                ชาวพม่าดำรงวิธีการดูแลรักษาผิวพรรณด้วยเนื้อไม้ชนิดหนึ่ง ซึ่งนิยมสืบทอดกันมายาวนานจนถึงปัจจุบันด้วยวิธีอันเรียบง่ายแบบพื้นบ้านซึ่งยังคงสืบทอดมาถึงปัจจุบันหนึ่งในจำนวนนั้น คือ ทานาคา (Thanaka) ต้นไม้อัศจรรย์อันลือชื่อของ ประเทศพม่า เป็นพันธุ์ไม้ยืนต้นมีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Limonia acidissima Linn.
  ต้นไม้อัศจรรย์อันลือ ชื่อของพม่า

ล่าวได้ว่าทานาคาเป็นเครื่องประทินผิวที่อยู่คู่กับชาวพม่า   ตลอดมา สำหรับไม้ทานาคานั้น เป็นพันธุ์ไม้ยืนต้นชนิดหนึ่ง เป็นไม้ตระกูลเดียวกับไม้แก้ว มีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Limonia acidissima Linn. ชอบขึ้นในเขตร้อน ทนความ แห้งแล้ง ลำต้นสูงราว ๒๐-๓๐ ฟุต             มีเปลือกผิวขรุขระ ใบเป็นช่อ
เนื้อไม้ทานาคาส่วนที่เป็นเปลือกและผิวเนื้อไม้จะมีกลิ่นหอมเย็น มีสีออกเหลืองนวล ในประเทศพม่าพบต้นทานาคามากทางภาคเหนือตอนล่าง แถบเมืองปะโคะกู่ ปะคัน ชเวโบ  สะกาย และมัณฑะเล ชาวพม่าทั่วไปคุ้นเคยกับทานาคากันเป็นอย่างดี แทบทุกบ้านจึงมักมีท่อนไม้ทานาคาวางไว้   คู่กับกระจกเสมอ ด้วยเพราะหญิงชาวพม่าจะต้องใช้ทานาคาทาผิวทุกครั้งหลังอาบน้ำจะทำให้เนื้อตัวเย็นสบาย    สาวพม่าจะมีความผูกพันในกลิ่นและความเนียนของเนื้อไม้ทานาคาอย่างขาดแทบไม่ได้ ด้วยทานาคาช่วยให้ผิวเกลี้ยงเกลา ดูเนียนและนุ่มนวล    ช่วยรักษาผิวหน้า ขจัดสิวและฝ้า และกันเปลวแดด
ในประเทศไทยก็มีต้นไม้ที่อยู่ในตระกูลเดียวกันกับต้นทานาคาคือ ต้นพญายา หรือ กระแจะ Naringi crenulata (Roxb.) Nicolson ในวงศ์ Rutaceae  เสน่ห์ของต้นทานาคาไม่ได้มีเพียงคุณสมบัติของเครื่องประทินผิว แต่ยังมีประโยชน์ขนาดเข้าตำรับยาพื้นบ้านของพม่า ที่เรียกว่า บะยะเซ มีฤทธิ์เป็นกลาง ไม่ร้อนเกินไป ไม่เย็นเกินไป ความร้อนเย็นเสมอกัน ขมเล็กน้อย และมีกลิ่นหอม หากใช้ภายนอกจะช่วยแก้อาการคัน ดับกลิ่น ลดความชื้นบนผิวกาย นอกจากนี้ ทานาคายังนำมาปรุงเป็นยาสำหรับรับประทาน โดยนำใบ ดอก ผล และรากมาใช้รักษาโรคต่างๆ อาทิ ใบสดใช้รักษาโรคลมบ้าหมู ต้มอาบเพื่อขับเหงื่อรักษาโรคผิวหนัง ต้มผสมเกลือแก้ไข้จับสั่น ใบแห้งบดเป็นผงผสมลูกหมากแก้โรคท้องมาน ผลแก้พิษ บำรุงกำลังป้องกันนิ่ว รากใช้ระบายท้อง ขับเหงื่อ รากและดอกอ่อนผสมน้ำผึ้งแก้พิษงู อีกทั้งเปลือกใช้ดมบรรเทาอาการวิงเวียน ตะนะคาจึงมีค่าเกินกว่าเครื่องประทินผิว
หลักฐานที่ชาวพม่าเริ่มใช้ทานาคามาตั้งแต่เมื่อไรนั้นยังไม่พบแน่ชัด บ้างเชื่อว่าการใช้ทานาคาเป็นเครื่องประทินผิวน่าจะมีมาพร้อมกับชาวพม่า นับแต่ยุคเมืองตะกอง ที่พม่าเชื่อกันว่าเป็นเมืองเก่าแห่งแรกของชนชาติพม่า บ้างอ้างจากตำนานที่กล่าวถึงพระเจ้าอะลองสี่ตู คราเสด็จไปยังดอยฉิ่งมะต่อง เขตเมืองปะคัน ซึ่งเป็นดอยที่อุดมด้วยต้นทานาคา ขณะทรงแปรพระราชฐานอยู่ ณ ที่นั้น บังเอิญพระมเหสีได้ทำผอบเครื่องหอมตก เป็นเหตุให้ต้นทานาคาที่งอกใหม่ภายหลังนั้นมีกลิ่นหอมขึ้นมากกว่าแต่ก่อน จากความเชื่อและตำนานคงบอกได้เพียงว่า บริเวณตอนบนของพม่า ชาวพม่าน่าจะใช้ทานาคา ซึ่งเป็นพื้นที่ของป่าทานาคามาจนถึงปัจจุบัน แล้วจึงค่อยๆ  แพร่สู่ผู้ใช้ในถิ่นอื่น จนถึงเขตพม่าตอนล่าง ชาวพม่าเชื่ออีกว่าเจ้าตำรับในการใช้ทานาคาเป็นเครื่องประทินผิวน่าจะเริ่มมาแต่ในวัง ถึงกับมีชื่อเรียกทานาคาตำรับชาววัง ที่ว่า                นันโตงทานาคา และกล่าวกันว่าทานาคาตำรับชาววังนี้เป็นทานาคาชั้นเลิศทีเดียว แต่ปัจจุบันนี้ได้สูญพันธุ์ไปแล้ว             

  รังสรรค์ ไม้ทานาคาจากต้นกำเนิดในป่า 
วิธีใช้ทานาคาเป็นเครื่องประทินผิวนั้น ต้องเอาทานาคาที่ตัดเป็นท่อน ขนาดหนึ่งคืบหรือครึ่งฟุต นำมาฝนบนแผ่นหิน เจือด้วยน้ำเพียงเล็กน้อย ผงทานาคาจะต้องละลายเป็นแป้งน้ำเสียก่อน จึงจะนำมาทาให้ติดผิวได้ พม่าเรียกน้ำทานาคานี้ว่า นั่งต่าเหย่  เรียกท่อนทานาคาว่า ตะนะคาโดง และเรียกแผ่นหินฝนทานาคาว่า เจ้าก์เปี่ยง กล่าวกันว่าเดิมทีเดียวนั้นพม่ายังไม่ได้นำเจ้าก์เปี่ยงมาใช้ฝนทานาคา หากแต่จะฝนเอาผงทานาคาตามแผ่นหินที่อยู่แถวริมน้ำ ต่อมาจึงมีการสกัดหินเป็นแผ่นแบนกลม ขนาดพอเหมาะ เป็นวงขนาดฝ่ามือ หรือราวคืบก็มี ทำขอบแผ่นหินเป็นร่องโดยรอบ สำหรับรองแป้งน้ำทานาคาพม่าเรียกร่องนี้ว่า เหย่ขั่งแต ส่วนพื้นที่กลางแผ่นเจ้าก์เปี่ยงจะทำเรียบปล่อยนูนเพียงเล็กน้อยเพื่อให้แป้งน้ำทานาคาไหลลงร่องรอบแผ่นเจ้าก์เปี่ยง และเรียกส่วนนูนนี้ว่า มยิ่งโมเชื่อว่าการใช้เจ้าก์เปี่ยงน่าจะมีมาตั้งแต่สมัยตะเยเขตะยาหรืออาณาจักรศรีเกษตร ก่อนสมัยพุกามเสียอีก แต่กลับพบหลักฐานการใช้เจ้าก์เปี่ยงครั้งแรกในสมัยอังวะนี่เอง ชาวพม่าถือว่าเจ้าก์เปี่ยงเป็นของสูง เพราะใช้ฝนแป้งทาหน้า จึงต้องเก็บเจ้าก์เปี่ยงเป็นอย่างดี ห้ามมิให้ ผู้ใดเดินข้าม อีกทั้งยังเชื่อว่าเจ้าก์เปี่ยงมีนัตหรือเทพคอยดูแลรักษา ในวันแรม 1 ค่ำหลังออกพรรษา ผู้เชื่อถือนัตเจ้าก์เปี่ยงจะต้องเซ่นบูชานัตตนนั้นและขอพรให้งามสมปรารถนาหรือให้งามอยู่ไม่สร่าง ซึ่งชาวพม่าจะกล่าวเป็นถ้อยคำขอพรแปลได้ใจความว่า "ขอให้งามยิ่งๆขึ้นเทอญ" ชาวพม่ายังนิยมตกแต่งเจ้าก์เปี่ยงให้ดูงาม มีการลงลวดลาย บ้างเพิ่มขาของเจ้าก์เปี่ยงให้เป็นรูปหน้าสิงห์ก็มี ส่วนชนิดของหินที่นำมาทำเจ้าก์เปี่ยงให้มีคุณภาพดีนั้น มักเป็นหินเนื้อดีที่ได้มาจากเมืองสะกาย และเมืองมะเกว ซึ่งอยู่ทางตอนบนของประเทศ
ทานาคา Brand ส่งออกของพม่า


การใช้ทานาคาในปัจจุบันสำหรับการรักษาโรคในสังคมพม่าได้ลดน้อยลงไปบ้าง ด้วยมียาสมัยใหม่ที่ใช้ได้สะดวกกว่า ส่วนการใช้ทานาคาเป็นเครื่องประทินผิวนั้น เริ่มได้รับผลกระทบจากความทันสมัยสาวสมัยใหม่บางคนเริ่มเมินแป้งจากท่อนทานาคา หันมาใช้เครื่องสำอางที่ช่วยแต่งแต้มสีสันบนใบหน้า แต่ก็ใช่ว่าเธอจะเลิกใช้ทานาคากันเสียทีเดียว มักยังนิยมใช้ทานาคาเป็นแป้งรองพื้นก่อนที่จะใช้เครื่องสำอาง      นับเป็นเรื่องธรรมดาที่การก้าวสู่ความทันสมัยในสังคมพม่านั้น ย่อมทำให้เกิดทางเลือกระหว่างค่านิยมเก่ากับค่านิยมใหม่ในหลายๆด้าน
ในขณะเดียวกันสินค้าจากตลาดท้องถิ่นพม่าอย่างเครื่องสำอางสมุนไพรประเทืองผิวดั้งเดิมของพม่าซึ่งผลิตจาก "ทานาคา (Thanakha) " ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับรางวัลเชิดชูคุณภาพผลิตภัณฑ์ไปครองถึง 2รางวัลจากฟิลิปปินส์ คือรางวัล 2008 Global Excellence Awards และรางวัล  2009 People's Choice Awards ที่ผลิตโดยบริษัท ชเวพยีนาน จำกัด (Shwe Pyi Nann Co., Ltd) ซึ่งมีการส่งออกไปยังตลาดฟิลิปปินส์และตลาดไทย  ในอนาคตอันใกล้ทางบริษัทฯกำลังหา  ช่องทางขยายตลาด  การส่งออกไปยังประเทศเกาหลีใต้และด้วยสรรพคุณของทานาคาที่มีคุณประโยชน์มากมายหลายอย่าง อีกทั้งขณะเดียวกันพม่าเริ่มเปิดประเทศ หลังจากที่ดำเนินอยู่ในวิถีทางของตนเองมาเป็นเวลานาน 



 สูตรความงามที่สาวพม่าใช้ต่อเนื่อง                          มานับร้อยปี ทานาคาบริสุทธิ์ได้รับการพิสูจน์โดยวิทยาการสมัยใหม่...

ปัจจุบันรูปแบบของทานาคาได้พัฒนาขึ้นจากขายเป็นท่อนมาป่นเป็นผงด้วยเครื่องจักรทันสมัย แล้ว             บรรจุซอง บรรจุขวด ใส่ตลับ ตลอดจนผสมเป็นแป้งน้ำ และอัดเป็นก้อน ทานาคาจึงกลายเป็นสินค้าสำเร็จรูป           จากโรงงาน ไม่เพียงแต่วางขายเป็นท่อนอีกต่อไป ทานาคาที่วางขายในตลาดจึงมีรูปแบบเพิ่มขึ้นมา อาทิ                    ทานาคาก้อน  ทานาคาผง  ทานาคาน้ำ  และ ทานาคาเมคอัพ  นับเป็นทางเลือกใหม่สำหรับคนยุคปัจจุบันที่ไม่อยากเสียเวลานั่งฝนท่อนทานาคา
จากเมื่อปีก่อนที่ผู้เขียนเองสนใจศึกษาเกี่ยวกับเครื่องสำอางที่มีส่วนประกอบของทานาคา มีการสำรวจตลาดท้องถิ่นแล้วแทบไม่มีเครื่องสำอางสมัยใหม่ยี่ห้อใดที่ใช้ทานาคาในสูตรเลย มาปีนี้ ทานาคาที่เป็นไม้ท่อนเล็กๆ หรือเป็นผงบรรจุในกระปุกพลาสติก หน้าตาบ้านๆที่ขายกันตามตลาดนัด มีเพียงฉลากภาษาพม่าแปะ ก็ได้รับการพัฒนา มาใช้เป็นส่วนประกอบในเครื่องสำอางหลายชนิด แต่งตัวเปลี่ยนโฉมใหม่ มาในแพ็คเกจทันสมัย ให้คนไทยที่อยากใช้ทานาคา ได้เลือกใช้ได้อย่างมั่นใจมากขึ้นว่า เครื่องสำอางนี้ได้รับการผลิตอย่างถูกต้องตามวิธีการผลิตที่ดี และมีความปลอดภัยเชื่อถือได้และนี่คือตัวอย่างหนึ่งของการพัฒนาเครื่องสำอางพื้นบ้านในภูมิภาคแถบบ้านเรา แบบไม่ต้องพึ่งชาติตะวันตก โดยเริ่มจากภูมิปัญญาพื้นบ้าน ใช้วิทยาศาสตร์สมัยใหม่พิสูจน์เพื่อยืนยันฤทธิ์ แล้วนำมาผลิตด้วยกระบวนการที่ถูกต้อง เพื่อให้เป็นเครื่องสำอางสำเร็จรูปที่ทันสมัย และปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค
แนวทางหนึ่งในการพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรทานาคาเป็นส่วนผสมในกรีเซอรีนจากธรรมชาติในการผลิตสบู่ ซึ่งมีคุณสมบัติที่เหมาะต่อการชำระล้างผิวและขจัดสิ่งสกปรก จะเห็นได้จากการเกิดเป็นแนวคิดนวัตกรรมสมุนไพรทานาคาที่ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ดูแลรักษาได้ทั้งผิวหน้าและผิวกายใช้ได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ด้วยมูลค่าทางการตลาดที่เติบโตอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะในธุรกิจ ความงามที่มีการใช้วัตถุดิบเป็นพืชสมุนไพร อีกทั้งกระแสของการดูแลสุขภาพในสินค้าที่มีส่วนผสมของสาร ธรรมชาติเป็นส่วนประกอบหลัก  ทำให้ผู้บริโภคหันมานิยมใช้ผลิตภัณฑ์ที่ใช้วัตถุดิบจากพืชธรรมชาติมากขึ้น  อีกทั้งผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาได้นั้นยังเป็นการช่วยเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภค และยังสามารถใช้เป็นแนวทางในการผลิต เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดที่กำลังเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วได้เป็นอย่างดี


เอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

เนตรนภา  เพ็ญศรี และพราวมาศ  แก้วประการ. 2550, การพัฒนาโลชั่นกันแดดจากสารสกัด
           แอลกอฮอล์กระแจะ. ภาควิชาเภสัชวินิจฉัย มหาวิทยาลัยมหิดล
ประคองศิริ บุญคง. ม.ป.ป., ผลิตภัณฑ์จากน้ำมันมะพร้าว. วิจัย:องค์การเภสัชกรรม.
ปารมี จิตต์ทำนงค์. 2549. สารต้านไทโรซิเนสในส่วนสกัดทานาคา (Limonia acidissima).  
           ปริญญานิพนธ์ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
Ratnayake Bandara, B.M., A.A. Leslie Gunathilaka., E.M. Kithsiri Wijeratne and N.K.B.
          Adikaram. 1988. Antifungal constituents from Limonia acidissima. Planta
          Medica.
Wangthong S, Palaga T, Rengpipat S, Wanichwecharungruang SP, Chanchaisak P,
          Heinrich M.  2010.  Biological activities and safety of Thanaka
          (Hesperethusa crenulata) stem bark. Journal of Ethnopharmacology 2010; 
          132: 466-472.